Organizational Quarantine (OQ) คือ การกักกันผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งที่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด - 19 ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติของคำสั่ง ศบค. และแนวทางการดำเนินการ OQ ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีขั้นตอนการดำเนินการในหลักการเดียวกับ State Quarantine และ Alternative State Quarantine ใช้ระบบการเฝ้าระวังอาการ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่นเดียวกับ State Quarantine
องค์กรหรือหน่วยงานที่ขอจัดตั้ง OQ จะต้องรับผิดชอบการจัดหาสถานที่ การบริหารจัดการ และค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการ รวมทั้งต้องมีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ (Partner) ในพื้นที่ ภายใต้การกำกับดูแลคุณภาพในการป้องกันและควบคุมโรคที่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เช่น แรงงานที่มี Work Permit นักเรียน นักศึกษา และเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างประเทศ เป็นต้น
การขอจัดตั้ง OQ ต้องได้รับการตรวจมาตรฐานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมโรค ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อร่วมตรวจระบบการป้องกันควบคุมโรค ที่จะต้องมีแนวทางการดำเนินการทางแพทย์ มีการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม และด้านวิศวกรรมโครงสร้างอาคารที่ต้องเป็นระบบปิดแยกออกจากสถานที่สาธารณะ (detached facilities) และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เคร่งครัดตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้เข้ารับการกักกันใน OQ จะต้องผ่านการคัดกรอง ติดตามอาการ และทำตามแนวปฏิบัติ (SOP) ในการดำเนินการระหว่างกักกัน ตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคสาหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เช่น การตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิเป็นประจำทุกวัน มีการส่งรายงานข้อมูลประจำวัน การตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR 2 ครั้งในระหว่างการกักตัว 14 วัน และการขนส่งผู้กักกันระหว่างสนามบินไปยัง OQ ด้วยรถพยาบาล เป็นต้น มีการตรวจเยี่ยมและประเมินผลหลังการดำเนินการแล้ว เพื่อรับรองมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ การจัดตั้ง OQ จะช่วยลดภาระเชิงงบประมาณและบุคลากรของทางการไทย และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้เดินทางเข้าประเทศกลุ่มต่าง ๆ ที่จะมีจำนวนมากขึ้นในมาตรการผ่อนคลายระยะต่อ ๆ ไป