มาดูกันว่า “วิศวกรรม” มีสาขาไหนบ้างที่น่าสนใจและเปิดสอนในประเทศไทย น้อง ๆ หลายคนที่อยากจะเลือกเรียน วิศวกรรม หรือกำลังหาข้อมูลกันอยู่ วันนี้เราได้รวบรวมมาฝากน้อง ๆ กันแล้ว อยากจะรู้ว่ามีสาขาอะไรบ้างและในสาขานั้นเรียนเกี่ยวกับอะไร ลองมาดูกันเลยยย
วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering) ครอบคลุมเรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์เป็นผู้ที่สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสร้างตึก อาคาร สะพาน ถนน ระบบขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนการทำรังวัดในงานสำรวจและแผนที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ นอกจากนี้ยังจะต้องเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการงานก่อสร้างอย่างถูกวิธีให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อุปกร์ณ์ทางไฟฟ้า อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ และวงจรไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อนำความรู้ทางด้านไฟฟ้ามาใช้ในการทำงานจะเน้นเรียนเกี่ยวกับการออกแบบและการวิเคราะห์ระบบไฟฟ้า วงจรไฟฟ้า การรับส่งข้อมูลในรูปสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การควบคุมระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำ รวมถึงยังเรียนเกี่ยวกับวิธีการแปรผันพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดด้วย
วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) การศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลนั้น จะศึกษาความเข้าใจในหลักการของหลักกลศาสตร์ พลศาสตร์ อุณหพลศาสตร์ กลศาสตร์ของไหล จลนศาสตร์ และพลังงาน
เพื่อการออกแบบและการวิเคราะห์ยานยนต์ อากาศยาน ระบบทำความร้อน ความเย็น ระบบการผลิต หรือจักรกลและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ
วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) ศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบ พัฒนา วางแผน ควบคุม การวิจัย ขั้นตอนการดำเนินงาน การจัดการและประเมินผล ในระบบต่าง ๆ โดยจะครอลคลุมทุกด้านทั้ง ด้านบุคคล สารสนเทศ อุปกรณ์ พลังงาน วัสดุ สถานที่ เวลา และด้านการเงิน
วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) เรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพ การออกแบบอุปกรณ์ และการควบคุมกระบวนการทำงานทางเคมี รวมถึงเรียนรู้หลักการของกระบวนการผลิตเคมีในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควบคู่กับหลักเศรษฐศาสตร์ไปพร้อม ๆ กันและยังมีทั้ง การเรียนในด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกด้วย
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การคิด การสร้าง วางระบบคอมพิวเตอร์และซอร์ฟแวร์ หรือเน็ตเวิร์ค โดยจะศึกษาทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการสื่อสารเน็ตเวิร์ค ควบคู่กับความรู้ทางด้านวิศวกรรมเน้นทางด้านทฤษฎี และการฝึกฝนปฏิบัติของทางด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมถึงการประยุกต์เข้ากับปัญหาทางด้านการออกแบบซอร์ฟแวร์และอุปกรณ์ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิศวกรรมเครือข่ายและความปลอดภัย (Network Engineering and Security) สำหรับสาขานี้ถือเป็นสายงานใหม่ที่เกิดนี้ ซึ่งช่วงหลังๆ ถือว่าโดดเด่นไม่แพ้สาขาอื่นๆ และเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดงานในยุคดิจิทัล โดยในส่วนของสาขานี้บางมหาวิทยาลัยจะมีการใช้ชื่อว่า วิศวกรรมระบบสารสนเทศและเครือข่าย ซึ่งจะมีการสอนเกี่ยวกับการเจาะลึกเรื่องระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การออกแบบเครือข่าย การดูแลและจัดการระบบเสมือนจริง ความมั่นคงปลอดภัยในเทคโนโลยีเครือข่าย ตลอดจนถึงการพัฒนาโปรแกรมบนเครือข่าย
วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) จะได้เรียนแบบเจาะลึกเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะตั้งแต่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การสร้างซอฟต์แวร์ และสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆวัน
วิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม (Mining and Petroleum Engineering) การประยุกต์ใช้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพของวิชาฟิสิกส์ เคมี และศาสตร์ทางวิศวกรรม เพื่อการเสาะหาและประเมินศักยภาพแหล่งปิโตรเลียม การพัฒนา ผลิต และขนส่งปิโตรเลียม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมจากใต้พื้นพิภพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ วิศวกรปิโตรเลียมจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการสำรวจหาและประเมินศักยภาพแหล่งปิโตรเลียม วางแผนรูปแบบวิธีการเจาะหลุมและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อที่จะผลิตนํ้ามันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว ทั้งนี้รวมถึงการจัดการกับผลิตผลที่ไม่พึงประสงค์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่า
วิศวกรรมนิวเคลียร์ (Nuclear Engineering) จะเน้นศึกษาด้านการพัฒนาหรือการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอุตสาหกรรม รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในเรื่องของการแพทย์ การเกษตร และศึกษาเรื่องของการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วย
วิศวกรรมโทรคมนาคม เป็นสาขาที่มีความหลากหลายของวิศวกรรมซึ่งจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, งานโยธา, งานโครงสร้าง, การวางฐานราก, งานเสาตั้งสายอากาศและวิศวกรรมไฟฟ้า หรือแม้แต่ทางการแพทย์ ก็มีการใช้วิศวกรรมโทรคมนาคมชั้นสูงมาประยุกต์ใช้ วิศวกรโทรคมนาคมใช้ความหลากหลายของอุปกรณ์และสื่อกลางการขนส่งข้อมูลที่มีอยู่มากมายจากผู้ผลิตในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายโทรคมนาคม
วิศวกรรมการบินและอากาศยาน (Aerospace Engineering) จะเป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ การออกแบบ, การสร้าง, การซ่อมบำรุง และการบริการธุรกิจทางด้านการบิน โดยที่จะเป็นการเรียนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของการออกแบบ การสร้างทางกายภาพของอากาศยาน, จรวด, ยานบิน และยานอวกาศ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงลักษณะทางอากาศพลศาสตร์และพฤติกรรม, พื้นผิวการควบคุมการบิน, การยกตัว, การลากทางอากาศพลศาสตร์
วิศวกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Engineering) เป็นงานที่เกี่ยวกับเทคนิคทางด้านการออกแบบ และควบคุม สำหรับการขนส่ง ทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ เพื่อการจัดเก็บ เคลื่อนย้าย สินค้าและบริการ การวิเคราะห์ วิจัยปัญหาในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่วนที่ มีความเกี่ยวข้องในระบบ และการประยุกต์ทางด้านเทคนิคต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในการจัดการ การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนในการผลิต รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) สาขาที่ประยุกต์องค์ความรู้ของวิศวกรรมศาสตร์ 3 ด้านหลัก คือ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมการควบคุมอัตโนมัติ และศาสตร์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการออกแบบ สร้างผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนางานในระบบอุตสาหกรรม การพัฒนาศักยภาพของเครื่องจักรกลโรงงาน จำพวกหุ่นยนต์โรงงาน หรือ ระบบอัจฉริยะ (Intelligent Systems) ให้มีการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ ทำงานและออกแบบระบบต่างๆ ทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้าสื่อสาร ระบบควบคุมอัตโนมัติ การประยุกต์เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อใช้งานด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ การสื่อสาร การเกษตร และอื่นๆได้เป็นอย่างดี
หางานสาย IT ฝากเรซูเม่กับ professional-one.com
ตำแหน่งสาย IT ที่เปิดรับ professional-one.com/job
อ้างอิง chula.ac.th, shakybrain.com